Header Image
ข้อมูลทั่วไปจังหวัด
watermark

ประวัติเมืองปทุมธานี

          เดิมจังหวัดปทุมธานีเป็นถิ่นฐานบ้านเมืองแล้วไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ปี นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา คือ เมื่อพุทธศักราช ๒๒๐๒ มังนันทมิตรได้กวาดต้อนครอบครัวมอญ เมืองเมาะตะมะ อพยพหนีภัยจากศึกพม่า เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ครอบครัวมอญเหล่านั้น ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคก จากนั้นมาชุมชนสามโคกได้พัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี ชาวมอญได้อพยพหนีพม่าเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อีกเป็นครั้งที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้ตั้งบ้านเรือนที่บ้านสามโคก และครั้งสุดท้ายในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้มีการอพยพชาวมอญครั้งใหญ่จากเมืองเมาะตะมะ เข้าสู่ประเทศไทยเรียกว่า “มอญใหญ่” พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชาวมอญบางส่วนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสามโคกอีกเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจากชุมชนขนาดเล็ก “บ้านสามโคก” จึงกลายเป็น “เมืองสามโคก” ในกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเอาพระทัยใส่ดูแล ทำนุบำรุงชาวมอญเมืองสามโคกมิได้ขาด ครั้งเมื่อเดือน ๑๑ พุทธศักราช ๒๓๕๘ ได้เสด็จประพาสออกเยี่ยมพสกนิกรที่เมืองสามโคก และประทับที่พลับพลาริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้ายเยื้องเมืองสามโคก ยังความปลาบปลื้มใจให้แก่ชาวมอญเป็นล้นพ้น จึงได้พากันหลั่งไหล นำดอกบัวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะอยู่เป็นเนืองนิจ ยังความซาบซึ้งในพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง จึงบันดาลพระราชหฤทัยให้พระราชทานนามเมืองสามโคกเสียใหม่ว่า “เมืองประทุมธานี” จากการตรวจสอบเอกสารทางประวัติศาสตร์  โดยกรมศิลปากรสันนิษฐานว่า นามเมือง “ประทุมธานี”  น่าจะมีที่มาจากการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2  โปรดเกล้าฯ พระราชทานเมื่อคราวที่เสด็จฯ ไปรับบัวจากชาวมอญ  ในเทศกาลประเพณีรับบัวที่สามโคก  ซึ่งจัดขึ้นในเดือน 11 จ.ศ.1177  อันเป็นช่วงเวลาที่บัวออกดอกเป็นจำนวนมาก  จึงได้พระราชทานนามให้สมกับเป็นแหล่งบัวชุกชุม  อย่างไรก็ดี  สำหรับวันที่แน่นอนของการพระราชทานนาม  เนื่องจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มิได้ระบุไว้  จึงมีการสันนิษฐานเทียบเคียงจากวันที่เริ่มประเพณีรับบัว  วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 เรื่อยไปจนวันออกพรรษา  ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์  กรมศิลปากร  ได้สรุปว่า  ถ้าถือว่าประเพณีรับบัว  เริ่มในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11  ก็พอจะอนุโลมได้ว่า วันพระราชทานนามเมือง  “ประทุมธานี” ตรงกับวันที่ 16  ตุลาคม พ.ศ.2358  อย่างไรก็ดี  การที่จะนำข้อสรุปว่า  วันพระราชทานนามเมือง “ประทุมธานี”  ตรงกับวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2358  ไปใช้อ้างอิง  ต้องระบุให้เข้าใจโดย  ทั่วกันว่า  เป็นการสันนิษฐานแบบอนุโลมเท่าที่มีข้อมูลปรากฏ  เนื่องจากยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนในการบันทึกเรื่องนี้  (กรมศิลปากร) พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงให้ใช้คำว่า "จังหวัด" แทนคำว่าเมือง ดังนั้นเมืองปทุมธานี จึงเป็นจังหวัดประทุมธานีเป็นต้นมา โดยเปลี่ยนการเขียนใหม่ด้วย คือ "ประทุมธานี" เป็น "ปทุมธานี" ขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่า มีเขตการปกครอง 3 อำเภอ                  คือ อำเภอบางกะดี อำเภอสามโคก และอำเภอเชียงรากทั้งสามอำเภอตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ ๆ กัน และมีอาณาเขตการปกครองของแต่ละอำเภอเป็นแนวลึกไปทางทิศตะวันตก ซึ่งไม่เหมาะแก่การปกครองเป็นอย่างยิ่ง ทางราชการจึงได้ประกาศให้แบ่งเขตการปกครองเสียใหม่ และให้ย้ายอำเภอเชียงรากไปตั้งที่ตำบลระแหงทางทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เรียกว่า "อำเภอระแหง" ไปก่อน ตามหนังสือศาลากลางเมืองประทุมธานีที่ 824/3228 ลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2458 แล้วให้เปลี่ยนชื่ออำเภอ ระแหง เป็นอำเภอลาดหลุมแก้ว แต่นั้นเป็นต้นมา
          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 ทางราชการให้ยุบจังหวัดธัญญบุรี เมื่อ พ.ศ. 2475 ทำให้จังหวัดปทุมธานีมีเขตพื้นที่อีก 4 อำเภอเพิ่มเข้ามารวมเป็น 7 อำเภอ   คือ อำเภอบางกะดี อำเภอสามโคก อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอธัญบุรี อำเภอลำลูกกา อำเภอบางหวาย อำเภอหนองเสือ (สำหรับอำเภอบางหวาย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "อำเภอคลองหลวง" เมื่อปี พ.ศ. 2448 เมื่อทางราชการโดยบริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้ขุดคลองที่สองเชื่อมคลองรังสิตทางทิศใต้กับคลองระพีพัฒน์ทางทิศเหนือแล้วเสร็จ เนื่องจากตัวอาคารที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ริมคลองที่หลวง (ราชการ) ได้ขุดขึ้น) เมื่อนายสุธี โอบอ้อม มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองปทุมธานีเป็นอย่างมาก  ได้สำรวจค้นหาศาลหลักเมืองปทุมธานีและสอบถามชาวเมืองปทุมธานี แล้วปรากฏว่า   เมืองนี้ได้โยกย้ายตัวเมืองอยู่หลายครั้งและไม่เคยมีศาลหลักเมืองมาก่อนเหมือนเมืองอื่นๆ จึงดำริเห็นเป็นสำคัญว่า ควรจะสร้างศาลหลักเมืองไว้ให้มั่นคง เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวปทุมธานี พร้อมทั้งให้เกิดความรักสามัคคีกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งยังจะนำความสงบสุขร่มเย็นมาสู่เมืองด้วย ความดำรินี้จึงเห็นพ้องต้องกันระหว่างข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า และประชาชน ได้ร่วมกันสละทรัพย์คนละเล็กคนละน้อยเมื่อดำเนินการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นศาลหลักเมืองแบบจตุรมุขยอดปรางค์เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดการประกอบพิธียกเสาหลักเมืองจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2521 โดยมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี มีการสมโภชเฉลิมฉลองเป็นงานใหญ่อย่างเอิกเกริก ศาลหลักเมืองจึงตั้งเด่นเป็นสง่า อยู่หน้าศาลากลางจังหวัดปทุมธานี มีผู้คนมากราบไหว้บูชากันอยู่มิได้ขาด นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมน้ำใจของชาวปทุมธานี ให้มีความรักสมัครสมานสามัคคีกันให้แข็งแกร่ง เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพรักยิ่งชีวิตของชาวไทย ไว้ให้มั่นคงถาวรสืบไปชั่วกาลนาน 
 
ที่ตั้งและอาณาเขต
 - ที่ตั้ง จังหวัดปทุมธานีตั้งอยู่ในภาคกลางประมาณเส้นรุ้งที่ ๑๔ องศาเหนือ และเส้นแวงที่ ๑๐๐ องศา  ตะวันออก อยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ๒.๓๐ เมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๕๒๕.๘๕๖ ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ ๙๕๓,๖๖๐ ไร่ ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) เป็นระยะทางประมาณ ๒๗.๘ กิโลเมตร
- อาณาเขต  มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบางไทร อำเภอบางปะอินและอำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแค และอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี
 - ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัด ฉะเชิงเทรา
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอบางเลน จังหวัด นครปฐม และอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี
 - ทิศใต้ ติดต่อกับเขตหนองจอก เขตคลองสามวา เขตสายไหม เขตบางเขน เขตดอนเมืองกรุงเทพมหานคร และอำเภอปากเกร็ด อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี

สภาพภูมิประเทศ
         พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มริมสองฝั่งแม่น้ำโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านใจกลางจังหวัด ในเขตอำเภอเมืองปทุมธานีและอำเภอสามโคก ทำให้พื้นที่ของจังหวัดปทุมธานีถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ฝั่งตะวันตกของจังหวัดหรือบนฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอลาดหลุมแก้วกับพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง และอำเภอสามโคก กับฝั่งตะวันออกของจังหวัด หรือบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ พื้นที่อำเภอเมืองบางส่วน อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอหนองเสือ อำเภอลำลูกกา และบางส่วน ของอำเภอสามโคกโดยปกติระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาในฤดูฝนจะเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นบริเวณกว้าง และก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับพื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เนื่องจากประกอบ ด้วยคลองซอยเป็นคลองชลประทานจำนวนมาก สามารถควบคุมจำนวนปริมาณน้ำได้ ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับอุทกภัยมีน้อยกว่า

ลักษณะภูมิอากาศ
        จังหวัดปทุมธานี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ ละติจูด 14 องศา 6 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 100 องศา 37 ลิปดา ตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 6 เมตร มีลักษณะอากาศแบบทุ่งหญ้าเมืองร้อน มีฟ้าหลัวชื้นสลับกลับฟ้าหลัวแห้ง มีฝนตกปานกลางและสลับฤดูแล้ง บริเวณภาคกลางตอนล่าง อากาศจะชุ่มชื้นมาสู่จังหวัด แบ่งฤดูกาลออกเป็น 3 ฤดู
  

  • ฤดูหนาว ช่วงระหว่างเดือน พ.ย. – ก.พ. อากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ย ประมาณ 22 องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน ช่วงระหว่างเดือน มี.ค. – เม.ย. อุณหภูมิเฉลี่ย 35 องศาเซลเซียส
  • ฤดูฝน ช่วงระหว่างเดือน พ.ค. – ต.ค. ปริมาณเฉลี่ย 1,200 มม./ต่อปี

 

ทรัพยากรสัตว์ป่า

        จังหวัดปทุมธานี มีเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวัดไผ่ล้อมและวัดอัมพุวราราม สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 74 ไร่ เป็นถิ่นที่อาศัยเก่าแก่ของนกปากห่าง จากการสำรวจเมื่อปี ๒๕๓๙ พบจำนวน ๘๔,๗๘๘ ตัว และพบที่อาศัยในพื้นที่อื่นอีก ๒๕๔ ชนิด ทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ  

ทรัพยากรน้ำ                     

     แหล่งน้ำธรรมชาติผิวดินที่สำคัญ คือ  แม่น้ำเจ้าพระยา  (ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง)  ซึ่งไหลผ่านอำเภอเมืองและอำเภอสามโคก ระยะทางประมาณ ๓๐ กิโลเมตร นอกจากนี้ยังคงมีลำคลองธรรมชาติและคลองชลประทาน  ประมาณ  ๘๔ คลอง  รวมความยาวประมาณ ๑,๐๖๒.๔  กิโลเมตร  

 

สัญลักษณ์จังหวัดปทุมธานี(ตราประจำจังหวัด)

ความหมาย ตราประจำจังหวัดปทุมธานี  

        รูปวงกลมมีสัญลักษณ์ดอกบัวหลวงสีชมพูอยู่ตรงกลาง และรวงข้าวสีทองอยู่ ๒ ข้าง ดอกบัวและต้นข้าว หมายถึง ความสมบูรณ์ด้วย พืชพันธุ์ธัญญาหาร

จังหวัดปทุมธานี ใช้อักษรย่อว่า "ปท

 

คำขวัญของจังหวัดปทุมธานี

“ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว

เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ

พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา

ก้าวหน้าอุตสาหกรรม”

ธงประจำจังหวัดปทุมธานีธงประจำจังหวัดปทุมธานี

  ความหมายของธงประจำจังหวัด

-  สีน้ำเงิน หมายถึง พระมหากษัตริย์

-  สีขาว หมายถึง ศาสนา

-  ดอกบัวหลวงกับต้นข้าว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกบัวและข้าวความหมายรวมของธงประจำจังหวัดปทุมธานี จึงหมายถึงว่าชาวจังหวัดปทุมธานี เป็นหมู่คณะที่มีความรัก และความสามัคคีเป็นปึก   แผ่นอันเป็นส่วนหนึ่งของชาติไทย ที่มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

 

ความสำคัญของธงประจำจังหวัดปทุมธานี

เป็นการเชิดชูเกียรติของจังหวัด บ่งบอกถึงสัญลักษณ์ของจังหวัด เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจชาวจังหวัด

ปทุมธานี ให้มีความรักท้องถิ่นและมีความร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ ความเจริญ และมีความเอื้ออารีต่อกัน

 

ดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี 

                               

ชื่อดอกไม้ ดอกบัวหลวง

ชื่อสามัญ                 Nelumbo nucifera
ชื่อวิทยาศาสตร์           Nymphaea lotus Linn.
วงศ์ NYMPHACACEAE
ชื่ออื่น                บุณฑริก, สัตตบงกช
ลักษณะทั่วไป      เป็นพรรณไม้น้ำประเภทพืชล้มลุก มีลำต้นและหัวอยู่ในดินใต้น้ำการเจริญชูก้านใบและดอกขึ้นมาบนผิวน้ำ ใบมีลักษณะกลมกว้างใหญ่ ผิวใบเรียบสีเขียวขอบน้ำตาล ดอกเป็นกลีบซ้อนกันหลายชั้นมีสีขาว ชมพู เหลือง ลักษณะ สีสันขนาดของใบและดอกขึ้นอยู่กับชนิดของพันธุ์
การขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด แยกกอจากหัวหรือเหง้า
สภาพที่เหมาะสม ดินเหนียว ดินนา ดินผสมอินทรีย์ ต้องการน้ำมากเพราะเป็นพืชเจริญในน้ำแสงแดด อ่อน จนถึง แดดจัด
ถิ่นกำเนิด แถบทวีปเอเซีย เช่น ประเทศจีน อินเดีย และไทย

 

ต้นไม้ประจำจังหวัด

ชื่อทั่วไป ปาริชาติ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina variegata Linn.
ชื่อสามัญ Indian Coral Tree, Variegated Tiger's claw
วงศ์ LEGUMINOSAE
ชื่ออื่นๆ ทองหลางลาย ทางเผือก , ทองหลางด่าง, ปาริชาติ ปาริฉัตร ทองบ้าน ทองเผือก มังการา
ถิ่นกำเนิด พบทั่วไปในเอเชียเขตร้อนและเขตอบอุ่น
ประเภท ไม้ยืนต้น
รูปร่างลักษณะ - ต้น ไม้ต้นยืนผลัดใบ สูง 5 – 10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนหนาม เรือน 
ยอดเป็นพุ่มกลม โปร่ง 
- ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงเวียนสลับ มีใบย่อย 3 ใบ ใบจะโตกว่า 
2 ใบด้านข้าง 
- ดอก รูปดอกถั่วสีแดงเข้ม ออกรวมกันเป็นช่อยาวประมาณ 30 - 40 
เซนติเมตร ออกดอก ระหว่างเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ 
- ผล เป็นฝัก ยาว 15 - 30 เซนติเมตร
การขยายพันธ์ ขยายพันธุ์ โดยการปักชำ และ เพาะเมล็ด
สภาพที่เหมาะสม สภาพดินทุกชนิด ชอบดินร่วนซุย กลางแจ้ง พบทั่วไปในเอเชียเขตร้อน 
และเขตอบอุ่น
ประโยชน์ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้

 

 

แผนที่แสดงขอบเขตจังหวัดปทุมธานี

 

 

การจ้างงาน

         จังหวัดปทุมธานีมีประชากรที่มีอายุ 1๕ ปีขึ้นไปรวม ๖๖9,๐๖๔ คน ซึ่งผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน 461,720 คน หรือคิดเป็นร้อยละ ๖9.00 และเป็นผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน ๒๐๗,3๔๔ คน หรือคิดเป็นร้อยละ 31.00 สำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ๔๖๑,๗๒๐ คน นั้นแยกได้เป็นผู้มีงานทำ จำนวน 458,782 คน คิดเป็นร้อยละ ๙9. ๔ ของผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ผู้ว่างงานจำนวน ๒,๖๔๓ คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 0.6 ผู้ที่รองานตามฤดูการ จำนวน ๒9๕ คน ภาวการณ์ทำงานของประชากรในจังหวัดปทุมธานี แยกออกได้เป็นผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 420,207 คน หรือร้อยละ 8.8 และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรมจำนวน 418,575 คน หรือร้อยละ 91.2 โดยกลุ่มผู้ทำงานนอกภาคเภษตรกรรมจะทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากที่สุด มีจำนวน 154,072 คน คิดเป็นร้อยละ 33.6 ของผู้มีงานทำทั้งหมด รองลงมาคือการขายส่ง – ขายปลีก ๗๓,๕๒๑ คน คิดเป็นร้อยละ 16.0 การก่อสร้าง 34,260 คน คิดเป็นร้อยละ 7.5  การขนส่งที่เก็บสินค้า 33,921 คน คิดเป็นร้อยละ 7.4 กิจกรรมโรงแรมและอาหาร  ๒๔,640 คน คิดเป็นร้อยละ ๕.๔ ส่วนในภาค/กิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจาก ๖ ภาค/กิจกรรมข้างต้น อีก ๑๖ ภาค/กิจกรรม มีกำลังแรงงานเฉลี่ยในแต่ละภาค/กิจภรรม ตำกว่าร้อยละ ๕

ข้อมูลเศรษฐกิจ

        1. การกสิกรรม

                จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ทำการเกษตร 496,652.00 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 49.78 ของพื้นที่ทั้งหมด ด้วยลักษณะภูมิประเทศของจังหวัดเป็นที่ราบลุ่มที่เอื้อแก่การเพาะปลูก จึงทำให้จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในทุกอำเภอ โดยอำเภอหนองเสือเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุด รองลงมาคือ อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอลำลูกกา และอำเภอคลองหลวงตามลำดับ ส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว รองลงมาได้แก่ ไม้ผล-ไม้ยืนต้น พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชพลังงาน โดยการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากกรุงเทพมหานคร จนเกิดการขยายตัวของเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม แนวโน้มการเกษตรในจังหวัดปทุมธานีจะเป็นการผลิตเพื่อสุขภาพและรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเน้น Green Agricultural และ Zero Waste

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญและประสิทธิภาพการผลิตของจังหวัดปทุมธานี

พืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของจังหวัดปทุมธานี ได้แก่

  • อันดับที่หนึ่ง ข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีพื้นที่เพาะปลูกทั่วทุกอำเภอในพื้นที่ 343,999 ไร่ เกษตรกร

21,716 ราย ผลผลิตเฉลี่ย 990 กก./ไร่เกษตรกรมีการทำนา 2 ปี 5 ครั้ง

  • อันดับที่สอง ไม้ผล-ไม้ยืนต้น มีพื้นที่ปลูก 28,8 94 ไร่ เกษตรกร 8,2 00 ราย ได้แก่ มะม่วง กล้วย

หอม ฝรั่ง

  • อันดับที่สาม พืชผัก มีพื้นที่เพาะปลูก 35,958 ไร่ เกษตรกร 4,523 ราย จะปลูกเชิงการค้า และเพื่อ

สุขภาพ เน้นการผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมี

  • อันดับที่สี่ พืชน้ำมัน (ปาล์ม) ในจังหวัดปทุมธานี มีพืชน้ำมัน 11,988.50 ไร่ เกษตรกร 355 ราย

ที่มา : รายงานการวิเคราะห์สภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2557 เดือน มกราคม – มิถุนายน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปทุมธานี

        2. การปศุสัตว์

               การผลิตด้านปศุสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญในจังหวัดปทุมธานี ปี พ.ศ. 2556 มียอดการผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรหันมาปลูกข้าวมากขึ้นเพราะขายได้ราคาดี ประกอบกับจังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่ติดกับกรุงเทพมหานคร ทำให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม บ้านพักอาศัยมากขึ้น พื้นที่ทำปศุสัตว์ลดลง แต่มีการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มขึ้นอยู่ 2 ชนิด คือ เป็ดไข่ และไก่พื้นบ้าน เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มาก เป็ดไข่มีการเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง ซึ่งอาหารของเป็ดไล่ทุ่งมาจากของเหลือจากการเกษตร ส่วนไก่พื้นเมืองการเลี้ยงจะเลี้ยงในบริเวณบ้านเท่านั้น และประชาชนนิยมบริโภคไก่พื้นเมืองมากขึ้น

        โดยสรุปการผลิตด้านปศุสัตว์เศรษฐกิจปี 2556 มีการเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ 3 ชนิด คือ กระบือ เป็ดไข่ และไก่พื้นเมือง เนื่องจากผลผลิตได้ราคาดี ส่วนที่มีการเลี้ยงลดลงได้แก่ โค และสุกร เนื่องจากพื้นที่ในการเลี้ยงลดลง  การประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วม และจากปัจจัยทางการตลาดมีความผันผวนของราคาขึ้นลงอย่างรวดเร็ว

         3. สัตว์น้ำ

                สัตว์น้ำที่มีปริมาณผลิตจากการเพาะเลี้ยงมากในจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ ปลาดุก ปลานิล ปลาสวาย และปลาตะเพียน ตามลำดับ  มีการเพาะเลี้ยงกระจายทุกอำเภอ  อำเภอที่มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงมากที่สุด ได้แก่  อำเภอลำลูกกา  อำเภอหนองเสือ อำเภอคลองหลวง   อำเภอเมืองปทุมธานี   อำเภอสามโคก  อำเภอลาดหลุมแก้ว  และอำเภอธัญบุรี ตามลำดับ ในปี ๒๕๕5   มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ     จำนวน 22,020,669 กิโลกรัม  เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 15.12  เนื่องมาจากสถานการณ์ที่เข้าสู่ภาวะปกติ อันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ปี 2554 ที่ทำให้ผลผลิตในปีนั้นมีปริมาณลดลง และมูลค่าเพิ่มจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปี 2555 มีมูลค่า 261,021,512 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 20.65 เนื่องมาจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและราคาที่สูงขึ้น

 


Line

คะแนนโหวต :
starstarstarstarstar
จำนวนการเข้าชม : 41,969